10 เทคนิค ในการเขียนบทความ บล็อก หนังสือ ให้ประสบความสำเร็จ

10 เทคนิค ในการเขียนบทความ บล็อก หนังสือ ให้ประสบความสำเร็จ

ถึงแม้การเขียนเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับใครหลายคน และหลายคนก็ฝันอยากเป็นนักเขียนแต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือพอจะรู้บ้างแต่ก็ยังไม่กล้าลงมือจริงจัง

ในบทความนี้จะนำ 10 เทคนิค ในการเขียนบทความ บล็อก หนังสือ ให้ประสบความสำเร็จมาบอกแล้วกันนะครับ

1.เขียนเรื่องที่ชอบ

ข้อนี้สำคัญเป็นลำดับแรก ๆ เลยครับ เพราะความชอบจะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากเขียน ถ้าเขียนเรื่องที่เราไม่ชอบ ยิ่งเขียนก็ยิ่งเบื่อครับ กว่าจะเขียนจบสักเล่มคงยากลำบากน่าดูแต่ถ้าเราได้เขียนเรื่องที่ชอบ ก็มักเขียนไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ

 

2.เขียนเรื่องที่รู้

เป็นอีกข้อหนึ่งที่ช่วยให้เราเขียนได้ดีครับ ยิ่งเรารู้มากเท่าไหร่ ก็ทำให้เขียนออกมาได้ง่ายและมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น ทว่าถ้าเราเขียนในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้มากนัก เวลาเขียนมักจะติดขัดและรู้สึกไม่แน่ใจ 

แต่ส่วนใหญ่ข้อที่ 1 กับข้อนี้มักจะสอดคล้องกันครับ คือพอเราชอบเรื่องไหนก็มักจะอยากค้นคว้าไปเรื่อย ๆส่งผลให้เรามีความรู้ในเรื่องนั้นไปโดยปริยาย

 

3.เขียนวันละนิด

ใครที่คิดว่าจะหาเวลาหยุดสัก 3 เดือนเพื่อมาเขียนหนังสือให้เสร็จหนึ่งเล่ม ผมว่าสวนใหญ่จะไม่ค่อยได้เขียนหรอกครับ แค่หาโอกาสจะได้หยุด 3 เดือนรวดยังยากเลย แทนที่จะทำแบบนั้นให้ค่อย ๆ เขียนไปทีละหน้า ถ้าทำได้ทุกวัน หนึ่งปีก็ได้ 365 หน้าซึ่งถือเป็นหนังสือเล่มหนาเล่มหนึ่งแล้วนะครับ

 

4.เขียนเค้าโครงหนังสือก่อนที่จะเขียนเนื้อหา

ข้อนี้ผมใช้เป็นประจำครับ ถ้าไม่มีเค้าโครง พอเขียนแล้วจะสะเปะสะปะ บางทีเนื้อหาก็วกไปวนมา เทคนิคที่ผมใช้เริ่มจากการทำสารบัญของหนังสือที่อยากเขียนก่อน แล้วค่อย ๆเริ่มเขียนเนื้อหาไปตามนั้น

 

5.หาคนอ่านงานเขียน

หลายคนอาจจะนึกว่า แหม ใครเขาจะมาอ่านให้ ผมจะบอกเคล็ดลับให้ครับ เพจเฟซบุ๊กหรือบล็อกนี่แหละเป็นเครื่องวัดความสามารถในการเขียนของเราได้เป็นอย่างดี เพราะพอเขียนแล้วเราจะเห็นผลตอบรับจากคนอ่านทันที

เรื่องไหนน่าเบื่อหรือน่าสนใจ เราสามารถดูได้จากจำนวนคนที่เข้ามาอ่าน และเมื่อเราเรียนรู้ว่างานเขียนแบบไหนได้รับความสนใจมาก ต่อไปก็พยายามเขียนให้ได้แบบนั้นครับ เรื่องไหนโพสต์ไปแล้วไม่ค่อยมีการตอบรับก็ลองดูว่าเป็นเพราะอะไร วิธีนี้จะช่วยปรับปรุงพัฒนางานเขียนของเราให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากคนอ่านทั่วไปแล้ว เราอาจลองให้คนที่สนิทหรือใครสักคนที่เราพอจะขอความช่วยเหลือได้มาช่วยอ่านงานเขียนอย่างหนังสือเล่มนี้ กว่าจะออกสู่สายตาของทุกคนในตอนนี้ก็ผ่านคนอ่านที่ให้ข้อคิดเห็นมาจำนวนไม่น้อยเลยครับ

 

6.หาแรงจูงใจในการเขียน

ถึงแม้เราจะเขียนเรื่องที่ชอบหรือเรื่องที่รู้ ก็อาจจะมีบางช่วงที่รู้สึกเบื่อ ๆ แล้วอยากจะเลิกเขียนอยู่ดี เราจึงต้องพยายามหาแรงจูงใจครับ การเขียนลงในเพจเฟซบุ๊กหรือบล็อกผมว่าก็เป็นแรงจูงใจที่ดี เหตุผลคือพอเราเขียนเสร็จก็มีคนอ่านทันที ถ้าเขียนไว้อ่านเองเงียบ ๆ คนเดียวก็คงรู้สึกเหงา อีกไม่นานเราก็อาจจะเบื่อ แต่ในเพจเฟซบุ๊กหรือบล็อกเมื่อเขียนเสร็จแล้วมีคนอ่าน มีคนถาม มีคนชอบ ผมว่ามันจูงใจดี อีกอย่างพอจำนวนไลก์ในเพจเฟซบุ๊กหรือจำนวนผู้ติดตามในบล็อกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ช่วยให้มีกำลังใจในการเขียนมากขึ้น

 

7.เขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน

นอกจากเป็นเรื่องที่เราชอบและรู้แล้ว ต้องมองในมุมผู้อื่นด้วยนะครับว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์อย่างไร บางทีในงานเขียน เราอาจจะต้องสรุปให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากเรื่องนี้สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง

จากประสบการณ์ของผม งานเขียนเรื่องไหนที่ผู้อ่านรู้สึกว่าได้ประโยชน์มาก ๆ ก็มักจะมีจำนวนไลก์และยอดแชร์สูงมากซึ่งเราสามารถใช้เรื่องนั้นเป็นแนวทางในการเขียนเรื่องต่อไปได้

 

8.เขียนให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ

ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็อย่าใช้ศัพท์เทคนิคที่ยากเกินความจำเป็น ส่วนการใช้ตัวอย่างประกอบจะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจในงานเขียนของเราด้วย

อีกอย่างคือ พยายามเขียนให้สั้นเข้าไว้และตัดคำที่ไม่จำเป็นออก เมื่อก่อนผมมักจะติดเขียนคำว่า “ทำการ” เช่น เราจะต้อง “ทำการ” วิเคราะห์ จริง ๆ คำนี้ตัดออกไปก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนเลย “เราจะต้องวิเคราะห์” ก็ได้ความหมายเหมือนเดิม จริงไหมครับ

นอกจากนี้ให้ระวังเรื่องตัวสะกดต่าง ๆ ด้วยครับ ถ้าผิดเล็กน้อยก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเจอคำผิดบ่อย ๆ คนอ่านจะพานเบื่อเอา

 

9.อ่านเยอะ ๆ

การอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับการเขียนหนังสือโดยตรงเลยครับ ยิ่งอ่านเยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเรื่องที่จะเอามาเขียนมากขึ้นเท่านั้น ถ้ารู้สึกว่าไม่รู้จะเขียนอะไรดี ลองกลับไปอ่านหนังสือดู เดี๋ยวก็ได้ไอเดียมาเขียนครับ

 

10.อยู่ในกลุ่มนักเขียนหรือคนที่ชอบเขียนหนังสือ

ผมโชคดีที่ได้รู้จักกับอาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่องเขียนหนังสือกันคนละหลายเล่ม และผมยังไปเรียนเรื่องการเขียนที่เปิดสอนเป็นคอร์สสั้น ๆ เพิ่มเติมด้วย ซึ่งการไปเรียนเพิ่มเติมนี้ นอกจากจะได้เทคนิคการเขียนใหม่ ๆ แล้ว ยังทำให้รู้จักกับกลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ ที่ชอบการเขียนเหมือนกัน พอเห็นคนอื่นเขียนเราก็จะมีแรงจูงใจในการเขียนเพิ่มมากขึ้นครับ

 

Moment of Learning

อยากเป็นนักเขียนต้องลงมือเขียนโดยเริ่มจากเรื่องชอบและเชี่ยวชาญ แล้วลงมือเขียนอย่างสม่ำเสมอ