[สรุป+รีวิวหนังสือ] The power of output ศิลปะของการปล่อยของ

[สรุป+รีวิวหนังสือ] The power of output ศิลปะของการปล่อยของ

ในบทความนี้ผมจะมา สรุป รีวิวหนังสือ The power of output ศิลปะของการปล่อยของกันนะครับ บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตของผมไปอีกด้านบวกมากๆขึ้นเลยก็ว่าได้ครับ

โดยเล่มนี้ผมได้โดนคนอื่นป้ายยาในกรุปอ่านหนังสือออนไลน์จากประโยคว่า คุณคิดว่า “คนอ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม” กับ “คนอ่านหนังสือเดือนละ 10 เล่ม” ใครจะพัฒนาได้มากกว่ากัน? มันทำให้ผมต้องสั่งหนังสือนี้ทาง Shoppee ส่งมาที่บ้านรีบอ่านโดยเร็วเลยครับ 

หนังสือเล่มนี้มีจำนวนหน้าทั้งหมด 344 หน้า แต่งโดยคุณ ชิออน คาบาซาวะ จิตแพทย์ญี่ปุ่นที่เก่งมากๆ ผลงานของเขามีเยอะมากไม่ว่าจะเขียนบทความเรื่องลงสื่อโซเชียลทุกวัน ดูหนังและรีวิวหนังได้หลายๆเรื่องต่อเดือน แถมยังมีเวลาออกกำลังกายและยังไปสังสรรค์กับเพื่อน เขาสามารถอ่านหนังสือได้เดือนละ 10-20 เล่ม และที่สำคัญคือยังมีการแต่งหนังสือออกมาได้ 1-3 เล่มต่อปี แถมยังเป็น Best Seller เล่มหนึ่งที่ผมชอบคือ เทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากๆครับ

สารบัญ

#ทำไมคุณถึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้?

  1. “คุณคิดว่า คนที่อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม กับ 10 เล่ม ใครจะพัฒนาได้มากกว่ากัน” ถ้าคุณเจอประโยคนี้เข้าไปแล้วรู้สึกว่ามันโดนตัวคุณก็สมควรอ่านเล่มนี้แล้วแหละครับ ปกติแล้วคำตอบของคนส่วนใหญ่ก็น่าจะคิดว่า คนที่อ่านหนังสือได้มากก็สามารถพัฒนาตัวเองได้มากใช่ไหมครับ แต่จริงๆแล้วคำตอบนั้นคือไม่ใช่! เพราะการอ่านหนังสือนั้นเปรียบเสมือนการนำข้อมูลมา Input ใส่ตัวเรา ซึ่งแน่นอนครับมันเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ชี้ชัดว่าตัวเองสามารถพัฒนาไปได้มากเท่าไหร่นั่นคือการ ปล่อยของออกไปหรือการสร้าง Output นั่นเอง
  2. สำหรับหลายๆคนที่อ่านหนังสือเยอะ หรือเป็นหนอนหนังสือแบบผม แต่รู้สึกว่าไม่ได้สร้างผลงานหรือไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตเลย แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ขับจะเปลี่ยนชีวิตของคุณไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมหาศาล
  3. สำหรับคนที่ต้องการที่จะมี Output ผลงานที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะ input น้อยก็ไม่เป็นไรครับ เพราะหนังสือเล่มนี้จะสอนให้คุณ สร้าง Output ได้ในสิ่งที่มี Input อยู่ตอนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดครับ
  4. เล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านได้อย่างสบายๆครับ มีตัวการ์ตูนน่ารักๆ คอยสอดแทรก แบ่งเป็นบทย่อยๆ อ่านแต่ละบทย่อยเข้าหัวค่อนข้างง่าย
  5. ในหนังสือ The power of output มีสรุปกฏ 4 ข้อ และ 80 เทคนิคในการสร้าง Output อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องต่างๆออกมาสั้นๆ จบในไม่กี่หน้า รวมไปถึง 7 Action Items ที่สามารถเริ่มทำตามได้เลยในช่วงท้ายที่ดีมากๆ

#สรุปเนื้อหาหนังสือเล่มนี้

ในบทความนี้ผมจะสรุปแก่นต่างๆที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ให้ฟังนะครับ โดยใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ 

  1. Rules : กฏพื้นฐานของ Output
  2. Talk : วิธีพูดสื่อสารโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์
  3. Write : วิธีเขียนที่ช่วยดึงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด
  4. Do : พลังแห่งการลงมือทำของคนที่สร้างผลงานได้ดีเยี่ยม
  5. Training : 7 วิธีฝึกเพื่อเพิ่มทักษะในการทำ Output

#กฏพื้นฐานของ Output

มาเข้าใจหลักการกันก่อนนะครับ สำหรับการทำ input คือ การอ่าน การฟัง และสำหรับการทำ Output คือ การพูด การเขียน การปฏิบัติ การรีวิว การทำสรุป สำหรับการทำปริมาณ input นั้นไม่จำเป็นต้องเยอะ เช่น ถ้าคุณอ่านหนังสือ 10 เล่ม แล้วไม่เข้าใจเนื้อหานั้นอะไรเลย สู้ใช้เวลาอ่านหนังสือ 3 เล่ม แล้วเข้าใจแก่นหนังสืออย่างถ่องแท้ใน 3 เล่มนั้นดีกว่า รวมถึงระหว่างนั้นก็ทำ Output ไปด้วยไม่ว่าจะเป็นการเขียนบล็อก การพูดเล่าให้คนอื่นฟัง การคอนเซ็ปต่างๆในหนังสือมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการทำ Output เหล่านี้ จะทำให้สมองของคุณ นั้นจดจำ input เหล่านี้ได้นานมากยิ่งขึ้น

กฎข้อที่ 1 : นำข้อมูลมาใช้ 3 ครั้ง ใน 2 สัปดาห์

หนังสือ The Power of output เล่มนี้นั้นกล่าวว่าบอกหลักการเมื่อได้เรียนรู้ Input เข้ามา วิธีการเปลี่ยน ความทรงจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาว และเมื่อเปลี่ยนได้เสร็จก็จะสามารถพัฒนาเป็นทักษะ บางอย่างในที่สุด

โดยวิธีการง่ายๆของหนังสือเล่มนี้คือ  ให้ใช้เรื่องที่เรียนรู้อย่างน้อย 3 ครั้งใน 2 สัปดาห์ 

กฏข้อที่ 2 : สร้าง Output ทุกครั้งที่มี Input

ถ้ามี input แต่ไม่เกิดการสร้าง output ก็ไม่มี Results ครับ ดังนั้นจำไว้เลยว่าถ้าหากได้เรียนรู้อะไรมาให้หาวิธีการทำ Output ออกมาได้เลย 

กฏข้อที่ 3 : อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input : Output คือ 3:7

จะเห็นว่าในหนังสือเล่มนี้บอกว่าปริมาณ Output นั้นควรจะเยอะกว่า Input เช่น ถ้าหากอ่านหนังสือซัก 3 เล่มก็ควรจะทำผลงานอะไรสักอย่างแล้ว ไม่ควรต้องรอให้อ่านหนังสือ 10 เล่มแล้วค่อยเริ่มมาทำ หรือสำหรับนักเรียนก็คือ ให้ทำแบบฝึกหัดให้มากกว่าการอ่านหนังสือนั่นเอง

กฏข้อที่ 4 : การฟัง Feedback จะทำให้ Output ของเรานั้นดีขึ้น

บางครั้งการทำ Output ออกมาเราก็ไม่ทราบหรอกครับว่าอันไหนมันดีหรือไม่ดี ดังนั้นวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือรับฟัง feedback ของผู้อื่น ถ้าหากอันไหนดีก็ทำต่อไปแต่ถ้าหากอันไหนไม่ดีก็ทิ้งไปแล้วทำใหม่นั่นเอง และแน่นอนครับมันจะทำให้เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ 

#วิธีพูดสื่อสารโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์

  • การพูดคุยในเรื่องของเมื่อวานที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นการสร้าง Output ที่ดีครับ
  • การพูดโดยเริ่มใส่ความเห็นของตัวเองลงไปก็จะทำให้ เรื่องของคุณที่พูดนั้นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
  • เพียงแค่พูดในแง่บวกลงไปก็ทำให้ชีวิตของเรามีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน ด้านการดำรงชีวิต ด้านชีวิตคู่ 
  • มีงานวิจัยออกมาว่า สัดส่วนระหว่าง คำพูดดี:คำพูดที่ไม่ดี ถ้าอยู่ระหว่าง 3 : 1 งานที่ทำมักจะไปได้ดี แล้วจะทรงประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเป็น 6 : 1
  • ในทางตรงกันข้ามถ้าคำพูดที่ไม่ดีมีมากกว่าจะทำให้พนักงานนั้นมีส่วนร่วมกับงานจริงๆน้อยมากๆอีกทั้งประสิทธิภาพในการทำงานก็ต่ำ
  • ถ้าเราเกลียดหัวหน้าแล้วเราพูดออกมาว่าเกลียดหัวหน้า เราก็จะเกลียดหัวหน้ามากขึ้นจริงๆ 
  • ในการวิจัยเรื่องของชีวิตคู่ก็เหมือนกัน ถ้าหากมีคำพูดที่ดี : คำพูดที่ไม่ดี ในสัดส่วน 5 : 1  ก็จะทำให้ อัตราการหย่าร้างลดน้อยลงมากๆ 
  • นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่า คำพูด นั้นมีผลต่อความรู้สึกเพียง 7 %เท่านั้น ส่วนน้ำเสียง(เสียงสูง, เสียงต่ำ, เสียงร่าเริง, เสียงเครียด) มีผลต่อความรู้สึกถึง 38 % และส่วนที่เหลือ 55% คือ ภาษากาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนจากใบหน้า (ยิ้มแย้ม, จับมือ, ตบไหล่)
  • ในการมองตา หรือ eye contact จะทำให้สมองเราหลั่งโดพามีนออกมาด้วย จึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น โดยแนะนำให้มอง 1 นาทีตอนใจความสำคัญพร้อมกับสื่อความรู้สึกออกไปด้วย รวมถึงเวลาเราฟังคนอื่นก็ให้มองตาเขาด้วย
  • บางครั้ง Content ที่เราสื่อออกไปหาผู้ฟังนั้นเราหวังดีกับเขาแต่ผลลัพธ์กลับมาคือ เขากลับไม่ชอบขี้หน้าเรางั้นอาจเป็นเพราะว่าเราใช้วิธีการสื่อสารไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ เทคนิคการสื่อสารแบบ Cushion Speech จะสามารถช่วยคุณได้ครับ โดยไอเดียของวิธีการนี้ก็คือ สื่อสารด้วยสารเดิมนั่นแหละแต่ผู้รับสารนั้นจะรู้สึกคุกคามน้อยที่สุด มี 4 กรณีดังนี้ครับยกตัวอย่างเช่น 
    1. No BUT : “ระยะนี้คุณมาสายบ่อยมาก อุตส่าห์ขายได้ดีแท้ๆ แบบนี้เท่ากับเปล่าประโยชน์” ( คนฟังนี่เข่าทรุด)
    2. Yes BUT : “พักนี้ยอดขายคุณเพิ่มขึ้น พยายามได้ดีมาก แต่ติดที่คุณมาสายบ่อย ช่วยรักษาเวลาด้วยนะ” ( ยิ้มได้อยู่)
    3. Yes And : “พักนี้ยอดขายคุณเพิ่มขึ้น พยายามได้ดีมาก ถ้าคุณรักษาเวลาเข้างานด้วยก็ยิ่งดีมาก” ( ยิ้มแห้ง )
    4. Yes How : “พักนี้ยอดขายคุณเพิ่มขึ้น พยายามได้ดีมาก เรามาช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้นไปอีก” ( ยิ้มกว้าง) เทคนิคนี้จะไม่ตำหนิเลย แต่จะให้เขาคิดได้เอง แบบนี้ดีที่สุดครับ
  • การทักทายเป็นพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ ถ้าหากเราพูดทักทายมีอายคอนแทค จะช่วยทำให้เราสนิทสนมมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
  • การพูดคุยกับคนอื่น ยิ่งเราพบปะผู้อื่นบ่อย ความชอบก็จะยิ่งสูงขึ้น บางครั้งถ้าหากเราคิดอะไรไม่ออกว่าจะคุยอะไร ก็แค่ทักทายเขาโดยการพูดชื่อเขาแล้วยิ้มให้ก็พอ

#วิธีเขียนที่ช่วยดึงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด

  • ยิ่งเขียนสมองก็ยิ่งทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • มีงานวิจัยเคยกล่าวว่า การเขียนโน้ตด้วยมือสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่าการพิมพ์ ทำให้จำได้นานกว่า และเกิดไอเดียใหม่ๆ มากกว่า
  • การขีดๆ เขียนๆ ระหว่างประชุมทำให้เพิ่มความจำได้ถึง 29% แม้ว่าจะขีดในรูปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมนั้นเลยก็ตาม 
  • สมองคนเรา จดจำข้อมูลต่างๆ ได้แค่ 3 เรื่องเท่านั้น เขียนมันออกมาก จะได้ไม่ต้องคอยจำทุกอย่าง เหลือพื้นที่ไปจำสิ่งใหม่ๆ
  • เขียนบทความให้เก่ง การเขียนเป็นวิธีง่ายพอที่จะให้คนอื่นมาวิจารณ์และให้ Feedback แก่เรา
  • การเขียน To Do List จะทำให้เราเห็นภาพรวมของงานทั้งวัน ลดการลืมไปได้เยอะ ไม่เสียสมาธิและสามารถทำให้เราทำงานได้ครบตามที่เราต้องการ โดยวิธีการทำง่ายๆคือ ใช้การเขียนใส่กระดาษ, วางไว้บนโต๊ะให้เห็นชัดเจน, ขีดฆ่าแต่ละงานเมื่อทำเสร็จ 
  • การเขียนตั้งเป้าหมายออกมาอย่างชัดเจน นั้นทำให้เราสามารถบรรลุผลของงานนั้นได้โดยง่าย โดยหลักการในการตั้งเป้าหมายคือต้องตั้งให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ ฉันจะลดน้ำหนัก 2 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน (สามารถวัดผลได้ และมีเวลากำหนดชัดเจน)
  • นอกจากนี้ The power of output ยังบอกเทคนิคในการตั้งเป้าหมายให้สำเร็จก็คือ 
    • 1.ตั้งเป้าหมายให้ “ยากเล็กๆ”
    • 2.กำหนด “ระยะเวลา”
    • 3.ทำ To Do 
    • 4.ต้องประเมินผลจากมุมมองคนนอกได้
    • 5.แบ่งเป็นเป้าหมายย่อยๆ

#พลังแห่งการลงมือทำของคนที่สร้างผลงานได้ดีเยี่ยม

  • สุดท้ายแล้วถ้าเราเรียนรู้มาทั้งหมดแต่ไม่ได้ลงมือทำจริงก็ไม่ได้เกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นมา
  • ในการลงมือทำนั้นก็ต้องลงมือทำแบบต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้เห็นผลลัพธ์ในการกระทำนั้น 
  • ให้คิดว่าจะทำวันนี้ ถ้าหากคุณอยากออกกำลังกายวันพรุ่งนี้ 1 ชั่วโมง ให้ลองเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายวันนี้สัก 5 นาทีสุดท้ายแล้วคุณจะออกกำลังกายมากกว่า 5 นาทีในวันนี้แน่นอน 
  • จงสนุกไปกับมัน หากคุณสนุกไปกับมัน คนก็จะทำมันอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก 
  • แบ่งเป็นเป้าหมายย่อยๆ อย่าบอกว่าเราจะลดน้ำหนักในปีนี้ 10 กิโลกรัมแต่เปลี่ยนเป็นให้เดือนนี้เราจะลด 1 กิโลกรัม
  • บันทึกผลงาน เพียงแค่เราบันทึกผลงานในสิ่งที่เราทำลงไปสมองเราก็จะมีฮอร์โมนโดพามีนสารแห่งความสุขหลั่งออกมา ทำให้อยากปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
  • ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานนั้นเสร็จ การให้รางวัลตัวเองเพียงเล็กน้อยจะทำให้เรามีแรงจูงใจที่อยากจะทำงานนั้นไปอย่างต่อเนื่อง 

#7 วิธีฝึกเพื่อเพิ่มทักษะในการทำ Output

เป็น 7 วิธีที่หนังสือแนะนำให้ลองทำดูนะครับสำหรับคนที่เริ่มต้นใหม่ๆ

1.เขียนบันทึกประจำวัน

วิธีการเขียนบันทึกประจำวันนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดแต่ต้องทำทุกวันอย่างต่อเนื่อง อาจจะจำกัดเวลาเพียง 5-10 นาทีต่อวัน โดยให้พยายามเขียนเรื่องในแง่บวกกับตัวเราเอง 

2.จดบันทึกเกี่ยวกับสุขภาพ

ให้ลองจดน้ำหนัก ความรู้สึกและชั่วโมงนอนของตัวเรา 

  • การจดน้ำหนักทุกๆวัน จะทำให้เรารู้ว่าถ้าหากน้ำหนักเราขึ้นเราก็ต้องควบคุมเรื่องอาหารการกิน 
  • การจดความรู้สึกอาจจะเป็นเรื่องของ การให้คะแนนก็ได้ครับเช่นอารมณ์ดีก็บวก 5 อารมณ์ไม่ดีก็ -5 ถ้าอารมณ์เฉยๆก็ 0 
  • จดชั่วโมงนอนก็จะทำให้เรารู้ว่าพักผ่อนได้เพียงพอหรือไม่ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะแปรผันตามความอารมณ์ความรู้สึกถ้าหากเราได้นอนเยอะก็มักจะมีอารมณ์ที่ดีครับ 

3.เขียนรีวิวหนังสือ

การเขียนรีวิวหนังสือ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยให้เราจำหนังสือได้และนำไปสู่การพัฒนาตนเอง

4.เผยแพร่ข้อมูล

การเผยแพร่ข้อมูลมีข้อดีมากกว่าข้อเสียครับ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการ Feedback ทำให้ Output ของเรานั้นดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นอยากทำอย่างต่อเนื่อง 

5.เขียนลง Social media

การโพสต์โซเชียลมีเดียนั้นทำให้เรามีความสนุก เพราะทำให้เราได้คุยกับคนอื่นๆด้วย 

6.เขียน Blog

ให้ลองสร้างโดเมนและเช่า Host เป็นของตัวเองดูแล้วทำการ Update ทุกวัน กฎของ Blog คือ

  • ถ้าเขียนได้ 100 บทความก็จะเริ่มมีผู้ติดตาม
  • ถ้าเขียนผ่าน 300 บทความก็จะเริ่มติด search engine หน้าแรกๆบ้าง
  • ถ้าเขียนผ่านไป 1000 บทความ จะมีหลายบทความที่ติดแสดงติดเยอะและถือว่าเป็น influencer ในสายงานนั้นๆ 

7.เขียนเกี่ยวกับงานอดิเรก

เขียนในเรื่องที่เราถนัด ไม่ต้องถึงขั้นเป็นเรื่องที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เอาแค่เรารู้ดีกว่าใครในชั้นเรียนก็พอแล้ว

ก็จบไปกันแล้วนะครับสำหรับสรุปหนังสือ The power of output หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับประโยชน์ไม่มาก็น้อยไปใช้ในชีวิตประจำวันนะครับ

สามารถสั่งหนังสือได้ที่ลิงค์นี้


แนะนำบทความที่น่าสนใจ