หนังสือ GRIT เล่มนี้ 366 หน้าเล่มนี้แต่งโดยคุณ Angela Duckworth ซึ่งอัดแน่นไปด้วยการงานวิจัยข้อมูลวิทยาศาสตร์ โดยได้ศึกษาคนที่จะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จนั้น กุญแจสู่ความสำเร็จไม่ใช่พรสวรรค์ ฐานะ การศึกษา หรือประสบการณ์ แต่มันคือสิ่งที่เรียบง่ายและทรงพลังอย่างมากคือ “GRIT”
คนส่วนใหญ่นั้นชอบให้ความสำคัญกับ “พรสวรรค์” ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และทำการด่วนสรุปว่าใครก็ตามสักคนที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะคนนั้นมี “พรสวรรค์” เป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น
สมการความสำเร็จของคุณ Angela ได้กล่าวไว้ว่า
พรสวรรค์ x ความพยายาม = ทักษะ
ทักษะ x ความพยายาม = ความสำเร็จ
เมื่อนำสองสมการนี้มารวมกัน คือ พรสวรรค์ x ทักษะ x ความพยายาม2 = ความสำเร็จ
หากกล่าวโดยละเอียด พรสวรรค์ คือ ความรวดเร็ว (เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด)ในการพัฒนาทักษะต่างๆให้ดียิ่งขึ้น และการมีทักษะในการทำงานจะทำให้เกิดความสำเร็จ แต่ทั้งสองสมการนี้ต่างต้องใช้ “ความพยายามหรือความทรหด” ที่ขับเคลื่อนให้เกิดทักษะผลิดอกออกผลเป็นความสำเร็จ
คุณ Angela ให้ความสำคัญกับ “ความพยายามหรือความทรหด” (Perseverance) อย่างมากและเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ โดยผมจะกล่าวถึงรายละเอียดความทรหดเพิ่มเติมดังนี้ครับ
ความทรหดในหนังสือเล่มนี้ หมายถึง ความขยัน, พากเพียร, ไม่ย้อท้อ ไม่ล้มเลิกกลางทาง ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่แย่ขนาดไหน ไม่ว่าจะล้มเหลวเท่าไหร่ ก็ยังทำต่อให้สำเร็จซึ่งนี่คือ “กุญแจสำคัญ”
และการที่เราจะสร้างความทรหด ในระยะยาว ได้นั้นจะมีทั้งหมด 4 องค์ประกอบคือ
1.ความสนใจ (Interest) – เพื่อค้นหาความหลงใหล (Passion) ที่แท้จริง
“จงคิดให้ออกว่าคุณชอบทำอะไรมากที่สุดในชีวิต แล้วพยายามทำสิ่งนั้นแบบเต็มเวลา ชีวิตมันสั้นนัก ดังนันจงทำในสิ่งที่ตัวเองรัก” – วิลล์ ชอร์ตช์
มีงานวิจัยหลาย 100 ชิ้นที่สำรวจคนวัยทำงานทุกสาขาอาชีพค้นพบว่าคนเราจะรู้สึกพึงพอใจกับงานมากขึ้นหากได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับความสนใจของตัวเอง
มีงานวิจัยอีก 60 ชิ้น ที่คนเราจะสร้างผลงานในที่ทำงานได้ดีกว่าหากพวกเขาได้ทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ
อาจลองทำคำถามง่ายๆ ต่อไปนี้กับตัวเอง “ฉันชอบนึกถึงเรื่องอะไร ฉันชอบใจลอยไปเรื่องอะไร ฉันใส่ใจในสิ่งใดอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉันคืออะไร ฉันชอบใช้เวลากับสิ่งใด”
2.การฝึกฝน (Practice) – ความมีวินัย (Discipline)
ในการฝึกฝนในที่นี้ไม่ใช่แค่ “ปริมาณ” มากเท่านั้นแต่ต้องเป็น “คุณภาพ” ด้วย หรือเราอาจเรียกได้ว่า การฝึกฝนแบบจดจ่อ (Deliberate Practice) ซึ่งจะส่งผลให้พัฒนาทักษะดียิ่งขึ้น มี 4 องค์ประกอบคือ
- มีเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย
- พยายามและจดจ่ออย่างเต็มที่
- เปิดรับคำติชม
- ทำซ้ำอย่างมีการครุ่นคิดและพัฒนา
พยายามทำฝึกฝนให้เป็นนิสัยและมีวินัย เทคนิคง่ายๆคือ ทำการฝึกฝน ณ สถานที่เดิม เวลาเดิม ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอัตโนมัติ เหมือนเราตื่นขึ้นมาแล้วเดินไปแปรงฟัน ซึ่งการฝึกฝนแบบจดจ่อนี้ ตัวผู้ฝึกนั้นไม่สนุก แต่จะรู้สึกดีในผลลัพธ์ของทักษะที่พัฒนาขึ้น
3.จุดมุ่งหมาย (Purpose) – ความเชื่อและการมีชีวิตอยู่เพื่อบางสิ่ง (Believe and meaningful of life)
จุดมุ่งหมายต่างกัน ความทรหดก็ต่างกัน หรือสามารถกล่าวได้ว่าผู้ที่มีความทรหดมากกว่าจะมีแรงผลักดันที่แรงกล้ากว่ามากในการแสวงหาชีวิตที่มีความหมายและมุ่งเน้นการทำเพื่อคนอื่น นิทานเรื่องหนึ่งช่างก่ออิฐ
ชายคนหนึ่งถามช่างก่ออิฐ 3 คนว่า กำลังทำอะไร ช่างก่ออิฐแต่ละคนตอบกลับมาว่า
- คนที่ 1 : ฉันกำลังก่ออิฐ แสดงถึงว่า งานนั้นมีไว้สำหรับการเลี้ยงชีพ เป็นแค่สิ่งจำเป็น
- คนที่ 2 : ฉันกำลังสร้างโบสถ์ แสดงถึงว่า งานนั้นมีไว้สำหรับเป็นอาชีพ เป็นหนทางสำหรับก้าวหน้าไปงานอื่นๆที่ดีขึ้น
- คนที่ 3 : ฉันกำลังสร้างบ้านให้พระเจ้า แสดงถึงว่า งานนั้นเป็นสิ่งที่ใจเรียกร้อง เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่าหากมีจุดมุ่งหมายที่ทำเพื่อตัวเองและเพื่อสังคมไปพร้อมๆกันนั้น ในระยะยาวจะทำได้ดีกว่าคนที่มีแรงผลักดันที่จะทำเพื่อตัวเองเท่านั้น
บ็อบ แมนคอฟฟ์ บรรณาธิการการ์ตูนของนิตยสาร The New Yoker ได้กล่าวไว้ว่าเขาได้ส่งผลงานไป 500 กว่าชิ้นต่อสัปดาห์ ซึ่ง 96% ของผลงานที่ส่งเข้ามาเพื่อขอตีพิมพ์จะถูกปฏิเสธ จะมีเพียง 17 ชิ้นเท่านั้นที่จะได้ลงหนังสือพิมพ์
บ็อบให้ไอเดียว่า วิธีที่จะทำให้ได้ตีพิมพ์คือ ส่งงานที่มีคุณภาพปริมาณที่มากพอ
เดอะ นิวยอร์กเกอร์ ปฏิเสธผลงานของบ็อบกว่า 2,000 ชิ้นระหว่างปี 1974-1977 แต่เขาก็มุ่งมั่นส่งผลงานต่อ ปี 1978 The New Yoker รับซื้อผลงาน 13 ชิ้น ,ปี 1979 25 ชิ้น ,ปี 1989 27 ชิ้น จนปี 1981 บ็อบก็ได้รับจดหมายเชิญให้เป็นนักเขียนสัญญาจ้างและกลายเป็นบรรณาธิการในที่สุด
บ็อบสอนให้เรารู้ว่าเราอาจจะเปลี่ยนผลงานหรือภารกิจของเราได้แต่เป้าหมายสูงสุดไม่ควรเปลี่ยน ดังนั้นความทรหดทำให้เราไปถึงเป้าหมายสูงสุด และเป้าหมายสูงสุดก็ยังเสริมความทรหด
4. ความหวัง (Hope)
ความหวังในที่นี้นั้นหมายถึง แม้ว่าเราจะเจอสถานการณ์ที่แย่ เลวร้ายขนาดไหน แต่เรามีความหวังว่าเราจะสามารถทำได้ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้เสมอ
วิธีการฝึกให้มีความหวังนี้เราต้องฝึกให้มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) ปรับความเชื่อที่เกี่ยวกับความฉลาดและความสามารถ สมองเราเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ตลอดเวลา ให้เราพยายามเอาชนะความท้าทายใหม่ๆ
จากนั้นพูดคุยกับตัวเองมองโลกในแง่ดี เปลี่ยนวิธีคิด วิธีรู้สึก เมื่อต้องพบเจออุปสรรค เมตตาต่อตัวเองให้มากๆ แล้วใช้ความอุตสาหะเอาชนะความทุกข์ยากให้ได้
ที่กล่าวมา 4 องค์ประกอบที่เป็นการสร้าง ความทรหดจากภายในตัวเองสู่ภายนอก (Inside Out)
นอกจากนี้ยังมีการสร้างความทรหดจากภายนอกสู่ภายใน (Outside in) ซึ่งต้องมีผู้อื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ โค้ช ครู หัวหน้า พี่เลี้ยง โดยจะเน้นเป็นการสร้าง Growth Mindset เลี้ยงดูส่งเสริมเด็กโดยการสนับสนุนในสิ่งที่เขามีความหลงใหล (Passion) แต่จะแฝงไปด้วยความมีวินัย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ความรักที่เข้มงวด (tough love)
มีงานวิจัยว่าความทรหดกับความสุขนั้นมีความสอดคล้องกันโดยค้นพบว่ายิ่งใครสักคนมีความทรหดมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งมีสุขภาพจิตที่ดีและความสุขที่มากขึ้นไม่ว่าจะประเมินในแง่ไหนก็ตาม
การมีความทรหดคือการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
การมีความทรหดคือการยึดมั่นในการทำเป้าหมายที่เราสนใจและเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมาย
การมีความทรหดคือการลงแรงฝึกฝนทำสิ่งที่ท้าทายวันแล้ว วันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ปีแล้วปีเล่า
การมีความทรหดคือการล้มลงเจ็ดครั้งแล้วลุกขึ้นมาใหม่แปดครั้ง
สรุป ความลับเพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์แต่เกิดจาก Grit
Grit คือ การมีความหลงใหล (Passion) และ ความพยายาม (Perseverance) ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อเป้าหมายระยะยาว และคนที่มี Grit จะมีความอุตสาหะกระทำตามเป้าหมายได้ในระยะยาวแม้ว่าจะต้องเจอความผิดหวังหรืออุปสรรคเท่าไรก็ตาม
สามารถสั่งซื้อหนังสือได้จากลิงค์นี้ครับ
แนะนำบทความที่น่าสนใจ