“มีเงินอยู่หนึ่งก้อน … ลงทุนอะไรดี” นี่คือหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่มีคนถามทุกวัน (ทุกวันจริงๆ นะ) และทุกครั้งที่ถูกถาม ผมก็จะไม่ตอบกลับว่า “ควร” ลงทุนอะไร เพราะแค่ฟังคำถาม ก็รู้แล้วว่าเจ้าของคำถามน่าจะยังไม่ได้ศึกษาเครื่องมือลงทุนชนิดใดจริงจังเลยสักอย่างก็เลยไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไรดี นอกจากจะไม่ให้คำตอบแล้ว แทบทุกครั้งผมจะย้อนถามกลับไปเสมอว่า “ก่อนจะลงทุน มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแล้วหรือยัง”
ทำไมต้องสนใจ “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” มันสำคัญยังไงคำตอบคือ “สำคัญมาก” และสำคัญถึงระดับที่เป็น “เป้าหมายแรกของการออม” สำหรับคนทุกคนเลยทีเดียว เรื่องการออมหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แค่เหลือใช้แล้วกองรวมกันไว้ ก็เรียกว่าเป็น “เงินออม” ได้ แต่ที่ถูกต้องคนเราควรจัดแบ่งเงินออมแยกไว้ในแต่ละวัตถุประสงค์เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการ ในบทความนี้จะมาเล่าถึงเทคนิคการวางแผนการออมเงิน เข้าใจง่ายและใช้ได้จริง
สารบัญ
#เงินออมควรแบ่งออกเป็น 3 ตะกร้า
1.ตะกร้าเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Basket)
ตะกร้านี้เป็นแหล่งเก็บเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่อาจส่งผลกระทบกับการเงินของเรา อาทิ ตกงาน ได้รับค่าจ้างช้า เจ็บป่วย หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน ฯลฯ
2.ตะกร้าเงินเกษียณรวย (Retirement Basket)
ตะกร้านี้เป็นแหล่งสะสมเงินสำหรับไว้ใช้ยามเกษียณจากการทำงาน เน้นทยอยสะสมและลงทุนในเครื่องมือกลุ่มตราสารการเงิน ใช้วิธีการลงทุนเรียบง่ายและไม่ชับซ้อน
3.ตะกร้าเงินเกษียณเร็ว (Money Freedom Basket)
ตะกร้านี้เป็นแหล่งเงินที่จะนำไปลงทุนในทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว ทำให้หมดกังวลเรื่องการเงินได้ก่อนเกษียณอายุจากการทำงาน
ในบทความนี้ เราจะมาลงรายละเอียดกันที่ตะกร้าเงินสำรองเพื่อฉุกเฉิน หรือ Emergency Basket กันก่อน สำหรับตะกร้าเงินเกษียณรวยและเกษียณเร็วนั้น ขอยกเอาไว้พูดถึงในบทถัดไป
เหตุผลที่คนเราควรให้ความสำคัญกับตะกร้าเงินสำรองเพื่อฉุกเฉินเป็นเป้าหมายแรกของการออม ก็เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องสภาพคล่อง เผื่ออนาคตอันไม่แน่นอนในระยะสั้นให้เราสามารถพร้อมรับมือได้ ก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนของการสร้างความมั่งคั่ง
ลองคิดดูว่า ถ้าเรานำเงินที่เก็บออมได้ไปลงทุนทั้งหมดเกิดมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา เราจะทำอย่างไร ถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นกำลังสูงขึ้น เราก็คงไม่อยากขายออกมา ในทางตรงกันข้าม หากราคาหุ้นกำลังตก เราก็ไม่สบายใจที่จะขายมันออกมาเช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรสร้างเกราะเล็กๆเอาไว้ปกป้องการลงทุนของเราไม่ให้ได้รับผลกระทบ และในขณะเดียวกัน ก็มีพอไว้สำหรับใช้จ่ายเมื่อมีภัยการเงินเข้ามาเยือนด้วย
ทีมฟุตบอลที่มุ่งเน้นแต่เกมรุก แต่ไม่สร้างและพัฒนากองหลังและเกมรับให้แข็งแกร่ง มักจะไปไม่ถึงดวงดาวเรื่องการเงินส่วนบุคคลก็เช่นกัน คนที่มุ่งแต่จะหาช่องทางลงทุน โดยไม่มองเรื่องของการปกป้องความเสี่ยง ก็มักจะเจอบททดสอบชนิดไม่คาดฝันอยู่เสมอ
ทั้งนี้โดยหลักแล้ว ขนาดของตะกร้าเงินสำรองที่เหมาะสมสำหรับคนเราคือ 6 -12 เท่าของรายจ่ายรวมต่อเดือน วิธีคำนวณก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่หยิบตัวเลขรายจ่ายรวมต่อเดือน (ทั้งรายจ่ายคงที่และรายจ่ายผันแปร) จากงบรายรับรายจ่าย มาคูณด้วย 6 ก็จะได้เป้าหมายของการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแล้ว
ตัวอย่างเช่น
หากเปิดงบรายรับรายจ่ายของเรา แล้วพบว่าในแต่ละเดือนเรามีรายจ่ายรวมตกอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน เป้าหมายเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของเรา ก็จะเท่ากับ20,000 x 6 = 120,000 บาท เป็นต้น (หรือเท่ากับ 240,000 บาท กรณีต้องการเก็บเงินสำรอง 12 เท่า)
หากเรามีเงินเก็บเงินก้อนอยู่แล้ว แต่ไม่เคยแบ่งหรือกันเอาไว้สำหรับสำรองเผื่อฉุกเฉินเลย อันนี้ก็ง่ายครับแค่เจียดหรือกันเงินออกมาตามตัวเลขที่คำนวณได้ก็เป็นอันเรียบร้อย เช่น ถ้ามีเงินเก็บอยู่ 300,000 บาท และคำนวณแล้วว่าต้องมีเงินสำรอง 120,000 บาท (รายจ่ายรวมต่อเดือน 20,000 บาท) ก็ให้แยกเงิน 120,000 บาท ไว้เป็นเงินสำรองส่วนอีก 180,000 บาท ก็ค่อยมองหาการลงทุนเพื่อต่อยอดให้งอกเงยต่อไปสำหรับคนที่ยังไม่เคยเก็บเงินเลย หรือยังมีเงินสำรองไม่ถึง 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ก็อาจเริ่มเก็บโดยหัก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เราสะสมก่อนใช้จ่ายในแต่ละเดือน มาสะสมในตะกร้าเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ในกรณีที่มีภาระค่าใช้จ่ายเยอะเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ไม่ไหว ก็ให้เริ่มเท่าที่ไหว ออมตามกำลังไปก่อนได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ก็คือ เราควรนำเงินที่สะสมก้อนนี้ไปเก็บไว้ที่ไหนดี หลักคิดสำคัญในการบริหารเงินสำรองก็คือ ต้องพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต เนื่องจากเราไม่รู้ว่าเหตุไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้น เงินก้อนนี้ต้องเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง และมูลค่าไม่ผันผวน ไม่เพิ่มหรือลดลงตามภาวะตลาด
ด้วยเหตุนี้ ทองคำ หุ้น และอนุพันธ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรลืมไปได้เลย เพราะมีความผันผวนของราคาในระดับที่สูง ในขณะเดียวกัน ประกันหรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่เหมาะเช่นกัน เพราะมีสภาพคล่องต่ำ แปลงกลับเป็นเงินสดได้ยากที่น่าจะเหมาะและผมอยากแนะนำให้ใช้เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิก
#เครื่องมือในเก็บออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
1.เงินฝาก
จะออมทรัพย์หรือประจำก็ได้ รวมถึงเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะถอนได้ตลอดเวลา เงินต้นไม่หดหาย
2.กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือ กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
พวกนี้ก็สภาพคล่องใช้ได้ ถอนวันนี้พรุ่งนี้ได้เงิน และความเสี่ยงจากมูลค่าเงินลดลงก็ต่ำมาก ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ
3.สลากออมสินและ สลากออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พอใช้ได้เหมือนกัน เหมาะสำหรับคนที่อยากเก็บเงินแล้วก็ลุ้นโชคไปด้วย
ถึงตรงนี้ใครหลายคนที่ห่วงเรื่องการลงทุนอาจแย้งว่ารอจนเก็บเงินสำรองได้ครบ กว่าจะได้เริ่มลงทุน เสียโอกาสกันพอดี เรื่องนี้ต้องบอกเลยครับว่า โอกาสในการลงทุนนั้นมีอยู่เสมอ และถ้าหากอยากจะลงทุนจริงๆ ระหว่างเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ก็ให้แบ่งเวลาไปศึกษาหาความรู้เรื่องเครื่องมือลงทุน (จะได้ไม่ต้องคอยถามคนอื่นว่าลงทุนอะไรากนั้นอาจแบ่งเงินเก็บอีกก้อนไปลงทุนควบคู่กันไปก็ได้
ก่อนจบบทความนี้ เทคนิคการวางแผนการออมเงิน เข้าใจง่ายและใช้ได้จริง อยากให้ทุกท่านลองคำนวณขนาดของตะกร้าเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของตัวเองกันดูครับ แล้วก็จัดสรรเงินออมมาลงในตะกร้านี้ดู ส่วนใครที่ยังเก็บเงินได้ไม่ครบหรือยังไม่ได้เริ่มเก็บเลย ผมแนะนำให้วางแผนหักเงินออมแบบอัตโนมัติลงในเครื่องมือการเงินที่ได้แนะนำไปแล้วทันทีเริ่มเลยนะครับ เพราะถ้าเป้าหมายแรกของการออมยังทำกันไม่ได้ เรื่องคิดจะมั่งคั่ง ก็ยังอีกไกลเลยครับ
หนังสือ : Money101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข
ผู้แต่งหนังสือ : จักรพงษ์ เมษพันธุ์
สามารถซื้อหนังสือได้ที่ลิงค์นี้
แนะนำบทความที่น่าสนใจ