ลาออกจากงานประจำดีไหม? [Checklist การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกจากงาน]

ลาออกจากงานประจำดีไหม? [Checklist การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกจากงาน]

การลาออกจากงานประจำ ของแต่ละคนนั้นมีสาเหตุหลากหลายอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละคน ไม่ว่าจะออกมาเพื่อเรียนต่อ เพื่อทำธุรกิจส่วนตัว ทำตามความฝันของตัวเอง หรือลาออกเพราะที่ทำงานเจ้านายไม่โอเค งานที่ทำอยู่นั้นเราไม่ชอบ แต่ในการลาออกจากงานประจำนั้นผลที่เราต้องรับนั่นคือ “ความเสี่ยงในเรื่องรายได้ที่ไม่มั่นคงนั่นเองครับ”

ดังนั้นในบทความนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังในการประเมินว่าควรลาออกจากงานประจำดีไหม และถ้าตัดสินใจจะออกแล้วควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง วิธีการประเมินว่าตัวเรานั้นควรออกจากงานประจำไหม?

สารบัญ

1.ถามใจตัวเราให้ดีว่า เหตุผลในการลาออกจากงานประจำที่แท้จริงคืออะไร?

สำหรับตัวผมเอง เคยเห็นเพื่อนร่วมงานบางคนเมื่อทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง ก็บ่นแล้วก็จะเขียนใบลาออกไปตามอารมณ์ที่เขาโกรธนั้น พอเรื่องออกมาเป็นเรื่องใหญ่ไปถึงหูเจ้านาย หรือได้ทำการยื่นกับ HR ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะกลับใจมาทำงานได้ หรือถ้ากลับมาทำงานก็ไม่สามารถทำงานได้ในบรรยากาศดีๆได้แบบเดิม
ข้อนี้เลยเป็นเรื่องสำคัญนะครับว่าคุณจะลาออกไปเพราะเหตุผลอะไร ขอให้คิดให้ดี

  • มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน
  • หัวหน้าไม่ดี ไม่ใส่ใจ ไม่ปกป้องลูกน้อง
  • เป็นงานน่าเบื่อ เป็นงานไม่ชอบ
  • มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัท มีความไม่มั่นคง
  • ได้งานใหม่ที่ดีขึ้น เงินเดือนดีขึ้น เดินทางสะดวกขึ้น โอกาสการเติบโตในสายงานได้มากขึ้น
  • อยากจะออกไปทำธุรกิจของตัวเอง ทำตามความฝันของตัวเอง

เมื่อเราได้คิดหาเหตุผลที่แท้จริง โดยไม่ใช้อารมณ์เป็นเหตุแล้วลองไปดูข้อที่ 2 กันครับ

2.ได้ลองพยายามแก้ไขปัญหานั้นจริงๆแล้วหรือยัง

ในทุกงานประจำทุกองค์กรนั้นมีปัญหาครับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็จะมีเรื่องการเมืองสังคมข้างในมีการเล่นพรรคเล่นพวก หรือแม้แต่เป็นธุรกิจ startup คนน้อยก็จริงแต่ลักษณะของงานนั้น ค่อนข้างมั่วไม่เป็นระบบ จับฉ่าย งานอาจจะไม่ถูกใจเราเพราะต้องทำทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับว่าเราว่าได้ลองปรับตัว และทำความเข้าใจกับบริษัทนั้นๆหรือยัง ได้ลองแก้ไขปัญหานั้นจริงๆแล้วหรือยัง ซึ่งหลายๆคนก็ ไม่ได้ลองปรับตัวหรือแก้ไขจริงๆ แต่เลือกวิธีการลาออกเป็นวิธีการแรก ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามก็มีปัญหาเหมือนกันครับแต่จะปรากฏในแต่ละรูปแบบ
ในการแก้ปัญหานั้น อาจจะลองขอคำปรึกษาจากเจ้านาย หัวหน้างานที่อยู่มานานแล้วเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆว่าเป็นอย่างไร อาจจะปรึกษากับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานของเรา
อาจจะทำการปรึกษากับ hr หรือพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เราเคารพและมีประสบการณ์มากกว่าเราในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ทัศนคติในการทำงานของเรานั้นชอบในงานนั้นๆเลยก็ได้

3.เปลี่ยนวิธีคิดว่าการที่เราไปทำงานประจำที่ไม่โอเคนั้น เป็น “โรงเรียนสอนพัฒนาทักษะชั้นยอด”

ความคิดของเรานั้นส่งผลลัพธ์ไปสู่การกระทำ ถ้าหากเราคิดว่างานที่เราทำนั้นไม่โอเค ไม่ดี เจ้านายก็ไม่ดูแลเรา เราต้องขนขวายทุกอย่างด้วยตัวเอง ก็อย่าให้ไปโฟกัสที่จุดนั้นครับ
แต่ให้คิดในทางกลับกันว่าเรามาฝึกวิชาจากโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อพัฒนาทักษะและรับประสบการณ์

  • งานที่เราทำอยู่นั้นไม่โอเคที่สุดแล้ว แสดงว่าในอนาคตถ้าเราไปทำงานอื่นเราก็จะมีภูมิคุ้มกันไม่ว่างานไหนก็ไม่มีทางไม่ดีกว่างานที่เคยทำอยู่อีกแล้ว
  • เจ้านายที่ไม่ดี ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าในอนาคตถ้าเราเติบโตเป็นเจ้านาย เราก็จะไม่เป็นเจ้านายในรูปแบบที่คนที่เป็นเจ้านายที่ดูแลเราอยู่

เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองในบางอย่างแค่นี้ จะทำให้คุณมีความสุขในการทำงานมากขึ้น

ผมเชื่อว่า 3 ข้อนี้คุณน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าคุณควรจะออกจากงานประจำหรือไม่ และถ้าเหตุผลที่คุณมีอยู่นั้นยังทำให้คุณอยากจะออกจากงานประจำอยู่ต่อไปจะเป็น checklist การเตรียมตัวครับ

#Checklist การเตรียมตัวออกจากงานประจำ

แน่นอนครับสำหรับคนที่ออกจากงานประจำสิ่งที่หายไปนั้นก็คือเงินเดือนความมั่นคงนั่นเอง ถ้าหากคุณไม่มีคนที่มาดูแล support ในเรื่องค่าใช้จ่ายของคุณ หรือมีภาระที่ต้องผ่อนหนี้สินของคุณต่อเดือนก็ต้องมาทำการประเมินแล้วละครับ

1.ตรวจสอบสถานะทางการเงินและความสามารถในการสร้างรายได้ของคุณในขณะนี้

1.1) เงินสดสำรองคุณมีอยู่เท่าไหร่

การจะลาออกจากงานประจำนั้น ความมั่นคงปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องมีเบาะกันกระแทกไว้ในระดับหนึ่งเผื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้นมาและต้องมั่นใจว่าคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากพอ หลักการง่ายๆคือคุณควรจะมีเงินสดสำรองไว้ขั้นต่ำ 12 เดือน แยกออกจากเงินลงทุนทำอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ห้ามเอามารวมกัน

ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนโสด อายุ 30 ปี มีรายจ่ายต่อเดือน เดือนละ 20,000 บาท (ค่าอาหาร 8,000 บาท ค่าเช่าห้อง 4,000 บาท ค่าสาธารณูปโภค 3,000 บาท ค่าผ่อนรถ 5,000 บาท) ดังนั้นคุณควรจะมีเงินสดสำรองไว้ 20,000 x 12 = 240,000 บาท ไว้ในแบงค์ ถ้าหากต้องการลงทุนอย่างอื่น ก็ต้องเตรียมเงินสดไว้สำหรับลงทุนอันนั้นโดยเฉพาะโดยแยกจากเงินสดสำรองอันนี้

1.2) หนี้สินของคุณมีอยู่เท่าไหร่

การทำงานประจำนั้นต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คุณอุ่นใจมากๆเพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตามอย่างน้อยๆ คนก็จะได้เงินเดือนในเดือนนั้นๆอย่างแน่นอน แต่ในการลาออกจากงานประจำแล้วไม่ว่าจะทำธุรกิจส่วนตัวเป็นฟรีแลนซ์ นายตัวเอง อะไรก็ตาม ก็ มีความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้ ดังนั้นก่อนที่คุณจะออกจากงานประจำ ให้ทำการเคลียร์หนี้สินออกไปให้มากที่สุดก่อน เพื่อประหยัดทั้งดอกเบี้ย ในการชำระ และความไม่แน่นอนของรายได้ของคุณในการเหลือกำไรมาผ่อนชำระหนี้ในเดือนนั้นๆ

1.3) อาชีพเสริม

จริงๆแล้วถ้าหากคุณอยากจะลาออกจากงานประจำมาเพื่อทำอาชีพธุรกิจส่วนตัวหรืองานในฝันของคุณ คุณสามารถเริ่มได้จากการใช้เวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นตอนเย็นในวันทำงาน หรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพื่อลองทำงานนั้นก่อนว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้จริงหรือไม่ รวมถึงคุณจะได้รู้ตัวเองด้วยว่าชอบงานนั้นจริงๆหรือเปล่า
ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยหน่อยเพราะต้องทำงานจันทร์ถึงอาทิตย์ แต่ต้องบอกว่าหลายๆคนที่ออกไปในช่วงแรกๆสำหรับการเป็นนายตัวเองนั้น ก็ต้องทำงานจันทร์ถึงอาทิตย์เหมือนกันครับในช่วงแรก แล้วเมื่อไหร่ก็ตามถ้าอาชีพเสริมนี้สามารถทำรายได้แซงงานประจำไปแล้วก็เป็นเหตุผลที่คุณจะสามารถออกมาทำอาชีพเสริมนี้ได้เต็มตัวเลยครับ

2.ตรวจสอบสิทธิพิเศษ สวัสดิการต่างๆ

2.1) เช็คสิทธิ์ประกันสังคม(Social Security)

เมื่อตัดสินใจลาออกแล้ว
2.1.1) สามารถไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน
ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงานเพื่อรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 4,500 บาท นั่นเอง
2.1.2) วิธีการเช็คยอดเงินประกันสังคมที่เราสะสมมา

  • เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม https://www.sso.go.th หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบผู้ประกันตน / สมัครสมาชิก
  • กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน
  • สำหรับคนที่เข้าเว็บนี้ครั้งแรกต้องทำการสมัครสมาชิก กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อรับรหัสการยืนยันตัวตน
  • ล็อคอินเข้าระบบและเลือกผู้ประกันตน
  • เข้าสู่หน้า “ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน” โดยจะแสดงรายละเอียดของผู้ประกันตน
  • คลิก “ข้อมูลการส่งเงินสมทบ” จะแสดงข้อมูลปีล่าสุด และจะปรากฏจำนวนเงินที่เรานำส่งแต่ละเดือน ซึ่งเงินนี้จะถูกแยกเป็น 3 ส่วน
    • เงินช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย (1.5%)
    • เงินช่วยเหลือเมื่อว่างงาน (0.5%)
    • เงินช่วยเหลือเมื่อชราภาพ (3%) รวมสูงสุด 750 บาทต่อเดือน
  • เกษียณอายุการทำงาน คุณจะได้เงิน “ช่วยเหลือเมื่อชราภาพ” คืน ถ้าอยากรู้ว่าเท่าไหร่ ให้คลิกที่ “การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ”

สำหรับเงินออมชราภาพนั้นจะขอคืนได้ตอน อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หลังจากลาออกภายใน 6 เดือนควรยื่นสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมต่อแบบผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 เพื่อมีสิทธิประโยชน์คุ้มครองรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ และรักษาสิทธิเงินออมชราภาพ

2.2) เช็คกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

ลองมาเช็คกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ในขณะนี้ จริงๆแล้วกองทุนเลี้ยงชีพนั้นจัดตั้งขึ้นมาเพื่อมนุษย์เงินเดือนจะได้มีเงินก็ในวัยเกษียณ แต่ในการลาออกก่อนจะต้องมีเงินบางส่วนที่ได้รับการสมทบจากนายจ้างต้องนำมาเสียภาษี ทั้งนี้การได้รับเงินสมทบจากนายจ้างก็ขึ้นอยู่กับอายุงานด้วย สามารถอ่านรายละเอียดได้ในลิงค์นี้นะครับ

3.เทคนิคพิเศษอื่นๆ

3.1) สมัครบัตรเครดิตที่ไม่มีค่าธรรมเนียมไว้

หลังจากที่คุณออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้ประจำไปแล้ว การสมัครบัตรเครดิตไว้นั้นจะทำได้ค่อนข้างยากเพราะไม่มีรายได้ประจำในการการันตีรายได้ และถึงแม้ว่าคุณจะลาออกไปแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มีการตรวจสอบว่าคุณนั้นทำงานอะไรในปัจจุบัน
ที่ให้สมัครบัตรเครดิตเอาไว้เพื่อเป็นเบาะกันกระแทกครับ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องนำมาใช้ แต่มีไว้เผื่อติดไม้ติดมือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นถ้าเราหมุนเงินไม่ทันก็ยังสามารถนำบัตรเครดิตตัวนี้มาหมุนได้ในระยะสั้น

3.2) การสร้างหนี้ระยะยาวอื่นๆไว้ในสิ่งที่เราคิดว่าคุ้ม

อย่างที่บอกครับการที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นความพิเศษก็คือ มีรายได้ที่ต่อเนื่อง มั่นคง และมีสลิปเงินเดือนสามารถกู้หนี้ก้อนใหญ่ได้ง่าย ถ้าหากคุณในปัจจุบันนั้นเช่าบ้านอยู่ และอนาคตอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องการเปิดออฟฟิศที่บ้านเราเลย ให้ลองมาคำนวณดูครับว่าค่าเช่าบ้านกับการซื้อบ้านเป็นของตัวเองนั้นคุ้มค่าหรือเปล่า ถ้าหากคุ้มค่าสามารถนำค่าเช่าบ้านไปผ่อนค่าบ้านได้ ก็ลองคำนวณดูครับ เพราะมันจะเป็นโอกาสสุดท้ายของคุณในการกู้สร้างหนี้ใหญ่ครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องคำนวณถึงความสามารถในการชำระหนี้ของคุณด้วยนะครับ

4.การยื่นใบลาออก

เมื่อคุณอ่าน checklist มาจนถึงข้อสุดท้ายนี้แล้ว และคิดว่าข้อที่ผ่านมานั้นได้ทำการคิดพิจารณาแล้วก็หมายความว่าคุณมีความพร้อมที่จะสามารถออกได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับใจของคุณแล้วครับเพราะคุณพร้อมหมดแล้ว แต่หลังจากที่คุณได้ยื่นใบลาออกนั้นแล้วผมแนะนำอย่างนี้ครับ

4.1) สะสางงานของเราให้เรียบร้อย ทำให้ตัวเรามีคนรัก จากไปให้มีคนคิดถึง

หลังจากที่เราได้ทำการยื่นใบลาออกแล้ว ให้ทำการสะสางงานของเราให้เรียบร้อย รวมถึงสอนงานคนอื่นที่มารับช่วงต่อจากเรา ให้ทำงานแบบมืออาชีพนะครับ อย่าคิดว่าเดี๋ยวก็ลาออกแล้วไม่อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะมันจะทำให้คนที่อยู่ในบริษัทนั้นรู้สึกไม่ดีกับตัวคุณ รวมถึงอาจจะมีการแนะนำให้บริษัทอื่นอย่าไปรับคนคนนี้มาเข้าทำงานอีกในอนาคตก็เป็นได้ มันทำให้เสียเครดิตตัวเรา มีแต่คนเกลียดนะครับ และในอนาคตถ้าหากเราไปไม่รอดในงานที่อื่น หรือธุรกิจของตัวเอง เราก็ยังสามารถหรืออาจกลับมาที่เดิมได้นะครับ

4.2) วันที่ยื่นใบลาออกนั้นสำคัญตรวจเช็คผลประโยชน์ดีๆ

โดยปกติแล้วในการยื่นใบลาออกนั้นจะต้องทำการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ถึงจะลาออกได้ ไม่ใช่ยื่นวันนี้แล้วออกพรุ่งนี้เลย รวมถึงในบางบริษัทยังมีข้อกำหนดว่าถ้าหากย้ายไปบริษัทคู่แข่งต้องลาออกไปแล้วกี่เดือนลองดูรายละเอียดให้ดี รวมถึงการได้รับโบนัสในแต่ละรอบของทางบริษัทด้วยให้ดูว่าหลังจากยื่นไปนั้นยังได้รับโบนัสในช่วงที่เราจะออกด้วยใช่ไหม

4.3) ไปลามาไหว้ เก็บเบอร์โทรศัพท์ เก็บคอนเนคชั่นไว้

ในวันสุดท้ายของการทำงานคุณควรจะไปไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ในที่ทำงานนั้นๆ เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ในอนาคตถ้าหากมีธุรกิจร่วมกัน หรือกลับมาทำงานด้วยกันอีก ก็จะเกิดการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไป

หวังว่าเพื่อนๆหลายๆคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ว่าควร ลาออกจากงานประจำดีไหม? นี้ไปตรวจสอบความพร้อมของตัวเองทั้งหมด ผมหวังว่าถ้าอ่านบทความนี้แล้วน่าจะสามารถตัดสินใจได้ในเบื้องต้นแล้วล่ะครับ ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคนนะครับ