เพื่อนๆหลายๆคนคงจะทราบ ว่าการอ่านหนังสือเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ดี และทุกๆคนอยาก “อ่านแล้วไม่ลืม”
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็คือหลายๆคนอ่านหนังสือไปแล้วแต่ไม่สามารถจำเนื้อหาได้เลยหรือเมื่อผ่านไป 2-3 วันก็ลืม
พอมีคนมาถามว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมันดียังไงก็ไม่สามารถตอบได้
ในบทความนี้จะมา แชร์เทคนิคง่ายๆที่สามารถได้ อ่านแล้วไม่ลืม
ก่อนที่จะเข้าไปถึงเทคนิคในเรื่องการอ่านให้ไม่ลืมผมขอแชร์ในเรื่องของหลักการวิทยาศาสตร์ก่อนนะครับ
ให้ลองคิดกลับไปในสมัยตอนที่เราเป็นเด็ก ทำไมแม่สูตรคูณแม่ 2 ถึงแม่ 12 เราสามารถท่องได้เลย แม้จะผ่านมาจนถึงปัจจุบันเราก็ยังสามารถจำได้ บางคนอาจจะพามา 10 ปี 20 ปีก็ยังสามารถจำได้อย่างแม่นยำ
เรื่องคําศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำเช่น
Dog แปลว่าหมา
Cat แปลว่าแมว
ก็ยังสามารถจำได้
แต่ในทางกลับกันเรื่องที่เราเพิ่งได้เรียนรู้ใหม่ๆ เช่นจำเบอร์โทรของแฟนเมื่อผ่านไปสองสามวันก็ลืมหรือ ถ้าเรียนจำสูตรคณิตศาสตร์ ค่าของมุมตรีโกณมิติ เมื่อสอบเสร็จ ผ่านไป 1 เดือนก็ลืม
เมื่อมาถึงจุดนี้ผมคิดว่าหลายๆคนคงเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่าทำไมความจำอย่างบางอย่างถึงไม่ลืมแต่บางอย่างกลับลืม
ในปี 1885, Hermann Ebbinghaus ได้ทำการทดลองที่เป็นรากฐานความจำของมนุษย์ในความสามารถในการจดจำข้อมูล จนสุดท้ายกลายมาเป็นกราฟที่มีชื่อว่า Ebbinghaus’ Forgetting Curve
จากกราฟเมื่อเราได้ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในวันแรกๆเราจะสามารถจำได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์แต่เมื่อผ่านไป 1 วันจะเห็นว่ากราฟความจำเนี่ยลดลงไปถึงระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อผ่านไป 4- 5 วัน มีระดับของความจำไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์และเมื่อเข้าสู่วันที่ 7 แทบจะไม่เหลืออะไรเลย
เริ่มเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่าทุกๆคนไม่ว่าจะความจำดีขนาดไหน แนวโน้มสถิติโดยทั่วไปที่ได้จากการทดลองในเรื่องความจำก็จะมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆด้วยกราฟ Exponential
และใช่ครับถ้าหากเราต้องการที่จะให้มีความจำที่ต่อเนื่องในระยะยาวในเรื่องนั้นที่เราได้ศึกษามาจะต้องทำการทบทวนครับ
มาดูกราฟของการทบทวน ซึ่งจริงๆแล้วเนี่ยมันเป็นภาคต่อจากการทดลองในเรื่องการลืมครับ
จะเห็นว่าในวันแรกเนี่ยกราฟความจำก็มีแนวโน้มที่จะลืมไปถึงประมาณ 50% แต่เมื่อมีการทบทวนหรือได้เรียนรู้เพื่อเติมความจำตรงนั้นก็กลับมาที่ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมแล้วก็ยังจะลดลงในวันที่ 3 ไปเหลืออยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์แนวโน้มที่ความจำจะลดลงก็มีแนวโน้มที่ลดลงมาซึ่งเมื่อผ่านการทบทวนรอบที่ 2 3 4 ไปเรื่อยๆก็มีแนวโน้มที่จะมีการลืมลดลงไปเรื่อยๆและมีแนวโน้มที่จะมีการจำได้ในระยะยาว
แล้วจะสังเกตเห็นว่าเมื่อเรามีการเรียนรู้ เว้นช่วง ทบทวนใหม่ จะส่งผลให้ระยะเวลาในการจดจำข้อมูลต่างๆก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย
ซึ่งก็เหมือนกับการท่องสูตรคูณที่เราได้ท่องมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่รวมถึงคำศัพท์บางคำที่เราก็ยังได้ใช้อยู่เป็นประจำก็เลยทำให้ไม่ลืม
เพื่อนๆน่าจะเริ่มเห็นภาพก่อนนะครับว่าความจำของในหลักการวิทยาศาสตร์เนี่ยทำงานอย่างไร
คราวนี้จะมาแนะนำถึงเทคนิคง่ายๆในการจำที่ทำให้ไม่ลืมนะครับ
เทคนิคการอ่านแล้วไม่ลืมข้อที่ 1 คือ “การทบทวน”
ที่เราได้เรียนรู้กันไปนะครับว่าหลักวิทยาศาสตร์เนี่ยเราต้องมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาซึ่งผมขอแนะนำว่าให้พยายามทบทวนหลังจากวันที่อ่านหนังสือไปหรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากนั้น 3 วันให้ทบทวนรอบนึงและเมื่อผ่านไป 7 วันให้ทบทวนอีกรอบหนึ่ง
ซึ่งการทบทวนเหล่านี้จะเป็นการย้ายข้อมูลจากที่เรียกว่า “หน่วยเก็บความจำระยะสั้น” ไปสู่ “หน่วยเก็บความจำระยะยาว”
เทคนิคการอ่านแล้วไม่ลืมข้อที่ 2 คือ “การทำ Output”
การใช้ไฮไลท์เน้นข้อความ การจดโน้ต การทำสรุป การเขียนรีวิว รวมถึงการเล่าให้คนอื่นได้ฟัง เพราะวิธีการเหล่านี้นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจในเนื้อหาอย่างถ่องแท้แล้วเรายังต้องทำ Output ออกมา ซึ่งยิ่งเป็นการทำให้สมองของเราเก็บความจำส่วนเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
เทคนิคการอ่านแล้วไม่ลืมข้อที่ 3 คือ “ทำแบบทดสอบ”
ในสมัยเรียนเราคงจะเคยทำแบบทดสอบเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยและแน่นอนครับ คนที่ได้ลองฝึกทำข้อสอบอยู่บ่อยๆก็จะสามารถทำได้คะแนนดีและสามารถติดในมหาลัยที่เป็นชั้นนำได้
การทำแบบทดสอบนอกจากที่จะเป็นการ feedback เราว่าเราได้เข้าใจว่าในสิ่งนั้นๆได้ถ่องแท้หรือไม่ ยังเป็นการ feedback ว่าเรายังไม่เข้าใจเรื่องไหนหรือยังไม่รู้ในจุดไหนทำให้เราสามารถไปไปศึกษาข้อมูลได้ถูกจุดและสามารถทำให้เราจำได้ในระยะยาวนั้นเอง
หลักๆในเรื่องของความจำก็คงจะเป็นในเรื่อง 3 ข้อนี้นะครับ
นอกจากนี้ผมก็ขอแนะนำเทคนิคอีกอันหนึ่งที่เคยได้ใช้ศึกษาในสมัยเรียนนะครับก็คือโปรแกรม Super Memo
ซึ่งผมได้ศึกษามาจากบทความของคุณเอ A-Academy
SuperMemo จะเป็นโปรแกรมที่เหมาะกับการทบทวนเนื้อหาความจำในระยะยาว การจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปสอบไม่ว่าจะเป็นสอบเข้ามหาลัยสอบ Toeic TOEFL IELTS
สามารถอ่านหลักการรวมถึงการดาวน์โหลดโปรแกรมได้จาก ลิงค์นี้ นะครับ
หวังว่าเพื่อนๆทุกคนคงจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันครับ