การตั้ง “เป้าหมายที่ทำสำเร็จได้” อย่างเป็นรูปธรรม มีคนจำนวนมากที่บอกว่า “ทำเป้าหมายให้เป็นจริงไม่ได้เลยแม้แต่น้อย” ทำไมเป้าหมายของคุณถึงเป็นจริงไม่ได้นะ
นั้นเป็นเพราะคุณใช้วิธีตั้งเป้าหมายแบบผิดๆ แม้จะเป็นเป้าหมายเดียวกันแต่ก็มีทั้ง “วิธีตั้งเป้าหมายที่ทำสำเร็จได้” และ “วิธีตั้งเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จไม่ได้”
ยกตัวอย่างเช่น การตั้งเป้าว่า “จะลดน้ำหนักให้ได้!” ถือว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จ ในขณะที่การตั้งเป้าว่า “จะลดน้ำหนักให้ได้ 2 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน!” ถือเป็นการตั้งเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จได้ผมจะอธิบายถึงวิธีการตั้งเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จได้โดยยึดหลักประสาทวิทยาศาสตร์ดังต่อไปนี้
สารบัญ
1. ตั้งระดับความยากที่ “ยากเล็กๆ”
บางคนคิดว่า “เป้าหมายยิ่งสูงยิ่งดี” แต่นั้นเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ต่อให้เราตั้งเป้าหมายว่า “จะลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน!” ในใจเราคงคิดว่า “ไม่มีทางทำได้หรอก”
ตามหลักประสาทวิทยา “เป้าหมายที่สูงเกินไป” จะไม่ทำให้โดพามีนหลั่งออกมา โดพามีนคือแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ เป็นสารแคมีในสมองที่จำเป็นต่อการทำเป้าหมายให้สำเร็จ
โดพามีนจะหลั่งออกมามากที่สุดเมื่อเรามีเป้าหมายที่ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป ถ้าพยายามอย่า่งเต็มที่ก็น่าจะทำได้สำเร็จ ผมเรียกโจทย์ที่ไม่ง่ายและยากนิดหน่อยว่า “ยากเล็กๆ”
การตั้งเป้าว่า “จะลดน้ำหนักให้ได้ 2 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน!” ถืออยู่ในระดับความยากเล็กๆ ที่ทำให้คิดว่า “ถ้าพยายามก็น่าจะทำได้” ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การดูประสบการณ์ในอดีตและระดับความสามารถของเราเองเป็นพื้นฐาน แล้วตั้งเป้าในระดับที่เราน่าจะทำได้หากพยายามอย่างเต็มที่
2. กำหนดระยะเวลา
ถ้าเราตั้งเป้าว่า “จะลดน้ำหนักให้ได้ 2 กิโลกรัม!” คุณคิดว่าจะอยากทำสำเร็จเมื่อไร อีก 3 เดือนข้างหน้า? 1 ปีข้างหน้า? หรือว่าอีก 10 ปี ข้างหน้า? การตั้งเป้าหมายโดยไม่กำหนดระยะเวลาถือเป็นเรื่องไร้ประโยชน์
คนจะมีแรงบันดาลใจมากขึ้นเมื่อมีการกำหนดระยะเวลา ในทางกลับกันหากไม่กำหนดระยะเวลา แรงบันดาลใจก็จะไม่เกิด การกำหนดระยะเวลาหรือเส้นตายจะทำให้เกิดแรงกดดันทางความรู้สึก ทำให้สารนอร์อะดรีนาลิน (สารที่ช่วยเพิ่มการสร้างสมาธิ) ถูกหลั่งออกมา
นอกจากนี้ เมื่อเราทำตามเป้าหมายแม้ เพียงส่วนหนึ่งได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด โดพามีน (สารที่ช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจ) จะช่วยหลั่งออกมาเหมือนเป็น “รางวัล” การกำหนดระยะเวลาจึงเป็นตัวช่วยให้เกิดความตั้งใจและแรงบันดาลใจ ส่งผลให้ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ
3. ทำให้เป็น To Do
บางคนตั้งเป้าหมายมาอย่างดี แต่พอถามว่า “แล้วจะทำอะไรบ้าง” กลับตอบไม่ได้ เป้าหมายที่ไม่มี To Do (จะทำอะไร) ไม่ช่วยให้เกิดการลงมือทำ To Do หมายถึงสิ่งที่ต้องทำหรือ การลงมือปฎิบัติอย่างเป็นรูปกรรมนั่นเอง
“จะลดน้ำหนักให้ได้ 2 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน!” ต่อให้เราพูดคำนี้วันละ 100 รอบก็ไม่ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ To Do คือการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม เช่น “ไม่กินระหว่างมื้อ” “ไม่กินหลัง 3 ทุ่ม” “ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 1 ชั่วโมงขึ้นไป” เป็นต้น
4. ต้องประเมินผลจากมุมมองคนนอกได้
ทั้งเป้าหมายและ To Do จะต้องให้บุคคลที่สามมองแล้วประเมินจากสายตาคนนอกได้ว่าเราทำสำเร็จหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งเป้าแค่ว่า “จะลดน้ำหนัก!” แล้วปรากฎว่า 3 เดือนถัดมา “ลดน้ำหนักลงได้ครึ่งกิโลกรัม”
แบบนี้เรียกว่าลดน้ำหนักได้สำเร็จหรือเปล่า เราอาจคิดว่า “สำเร็จสิก็เราพยายามแล้วนี่นา” แต่เพื่อนของคุณอาจบอกว่า “แค่ครึ่งกิโลกรัม ไม่เรียกว่าลดน้ำหนักหรอก” ก็ได้
หากประเมินผลไม่ได้ก็ทำ Feedback ไม่ได้ สรุปคือแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้ นอกจากนี้การไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ยังทำให้โดพามีนซึ่งเป็นเสมือนรางวัลไม่ถูกหลั่งออกมา ทำให้ไม่เกิดกำลังใจที่จะพยายาม
แต่ถ้าเราตั้งเป้าว่า “จะลดน้ำหนัก 2 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน!” แค่ชั่งน้ำหนัก ไม่ว่าใครก็ประเมินผลหรือตัดสินใจได้ทันทีว่าเราทำสำเร็จหรือไม่
5. แบ่งออกเป็นเป้าหมายย่อย
หากเป้าหมายมีขนาดใหญ่ เราจะควบคุม “ระดับความสำเร็จ” หรือ พัฒนาการ” ได้ยาก ดังนั้นจึงควรแบ่ง “เป้าหมายใหญ่” ออกเป็น “เป้าหมายย่อย” แล้วประเมินผลและทำ Feedback เป็นระยะ
หนังสือ : Output
ผู้แต่ง : ชิออน คาบาซาวะ
Pingback: [รีวิว+สรุป] หนังสือ GRIT : The Power of Passion and Perseverance - Book Intelligent